วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

เบาหวานในสุนัขและแมว ไม่ใช่เรื่องเบาๆนะ

โรคเบาหวานคือ 

                 โรคที่มีภาวะของระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูง มักเกิดในสัตว์เลี้ยงที่มีอายุมากๆ ในสุนัขพบได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 4-12 ปี และพบในเพศเมียมากกว่าถึง 2 เท่า สายพันธุ์ที่พบบ่อยได้แก่ พุดเดิล ดัชชุน มิเนเจอร์พินเชอร์ มิเนเจอร์ชเนาเซอร์ บีเกิล ปั๊ก โกลเดนรีทรีพเวอร์                 ส่วนในแมวพบว่าแมวเพศผู้ที่ทำหมันแล้วสามารถพบได้มากกว่าเพศเมียถึง 1.5 เท่า หรือแม้กระทั่งในแมวชรา หรือแมวที่มีน้ำหนักตัวเฉลี่ยมากกว่า 6.8 กิโลกรัม

              ปกติแล้วการที่ร่างกายจะสามารถนำน้ำตาลในกระแสเลือดไปใช้ได้นั้นจะต้องอาศัยฮอร์โมนอินซูลินที่ผลิตมาจากตับอ่อน ซึ่ง  สาเหตุของการเกิดโรคเบาหวานนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ 

แบบที่ 1   นั้นตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายได้  
แบบที่ 2   คือตับอ่อนสามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ปกติ แต่มีความบกพร่องในการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนอินซูลิน ดังนั้นจึงส่งผลให้มีระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ


สุนัขหรือแมวที่เป็นโรคเบาหวานนั้นมักจะมี อาการเริ่มแรกที่สังเกตเห็นได้ง่ายคือ ดื่มน้ำเยอะและบ่อย ปัสสาวะเยอะและบ่อย อ่อนเพลีย ผอม กินเก่ง หิวบ่อยแต่น้ำหนักตัวลดลง หากอาการรุนแรงอาจพบว่ามีอาการทางประสาท ตาเป็นต้อกระจก หรือตาบอดเฉียบพลันได้ ในรายที่มีข้อแทรกซ้อนอาจเกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากภาวะคีโตนในเลือดสูงหรือ ที่เรียกว่า Diabetic Ketoacidosis (DKA) จะมีอาการอาเจียน ท้องเสีย ซึม ขาดน้ำอย่างรุนแรงถือเป็นภาวะฉุกเฉินหากไม่ได้รับการรักษาอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้



                การวินิจฉัยโรคเบาหวานนั้นทำได้โดยการเจาะเลือดเพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด และอาจทำการตรวจปัสสาวะร่วมด้วย การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดนั้นควรงดอาหารมาแล้วอย่างน้อย  8 ชั่วโมง โดยหากพบว่าสุนัขหรือแมวของท่านมีระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ (มากกว่า 180 ในสุนัขและมากกว่า 250 ในแมว) ก็มีโอกาสที่สุนัขหรือแมวของท่านจะเป็นโรคเบาหวานได้

            การรักษาสุนัขและแมวที่เป็นโรคเบาหวานนั้นทำได้โดย  

1. การฉีดฮอร์โมนอินซูลินเข้าไปทดแทนในส่วนที่ร่างกายขาดไปเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดให้กลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม ในระยะแรกของการรักษาสัตวแพทย์จะแนะนำให้ท่านฝากสุนัขหรือแมวไว้ที่โรงพยาบาลประมาณ 1 สัปดาห์   เพื่อที่จะประเมินและปรับขนาดของฮอร์โมนอินซูลินที่จะใช้ โดยจะทำการเจาะเลือดก่อนและหลังการฉีดฮอร์โมนเพื่อทำกราฟระดับน้ำตาลในเลือดจนกว่าจะได้ขนาดของฮอร์โมนที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อสุนัขหรือแมวของท่าน หลังจากนั้นท่านสามารถกลับไปฉีดฮอร์โมนให้แก่สุนัขหรือแมวของท่านเองได้ที่บ้านตามปริมาณที่เหมาะสมที่สัตวแพทย์แนะนำ และหลังจากนั้นจะมีการนัดตรวจวัดระดับน้ำตาลในกระแสเลือด รวมทั้งตรวจปัสสาวะเป็นระยะๆ เพื่อประเมินผลการรักษาและปรับขนาดของฮอร์โมนอินซูลินให้เหมาะสม


2. การให้อาหารในเวลาที่แน่นอนและสัมพันธ์กับการฉีดอินซูลิน ส่วนชนิดของอาหารนั้นควรให้อาหารเฉพาะโรคเพื่อควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไปและจำกัดปริมาณอาหารให้พอเหมาะเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลและน้ำหนักตัว

                โดยปกติแล้วสุนัขที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานนี้ส่วนใหญ่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากสาเหตุที่ทำให้สุนัขเป็นโรคเบาหวานนั้นมักมาจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ซึ่งจะเป็นไปอย่างถาวร ส่วนแมวที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานนั้นมีโอกาสหายได้ เนื่องจากในแมวนั้นมักจะมีสาเหตุมาจากความบกพร่องในการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนอินซูลินซึ่งในบางครั้งสามารถกลับมาสู่ภาวะปกติได้ 

ดังนั้นสิ่งสำคัญในการรักษาโรคเบาหวานคือ 

การรักษาและควบคุมให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดอยู่ในระดับที่เหมาะสมภายใต้การดูแลรักษาของสัตวแพทย์   และทำให้สุนัขหรือแมวที่เป็นโรคเบาหวานนั้นมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

***********************************************

โรงพยาบาลเพื่อนสัตว์เลี้ยงศรีราชา

ติดต่อสอบถาม 
โทร 038-773007 / 089-2448865
Fax : 038-773339
IG : Petfriends_sriracha
Line@ : @petfriends 













Petshop








E-mail : petfriends2010@hotmail.com
ติดต่อเรา 1/16 หมู่ 4 ถนนสุขุมวิท ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 20110

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น