วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2561

ทำไม น้องหมาชอบกินอึ

ทำไม น้องหมาชอบกินอึ


คุณเคยสงสัยไหมคะ ว่าทำไม น้องหมาชอบกินอึตัวเอง ที่สำคัญ กินแล้วก็มาจุ๊บๆเจ้าของสะด้วย 55
บทความวันนี้จะไขข้อข้องใจให้ค่ะ

การกินอึ (Coprophagia)  เป็นภาวะที่ไม่ได้มาจากนิสัยใจคอเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะมาจากภาวะทางการเจ็บป่วยที่แอบแฝงอยู่ ดังนั้นหากพบว่าน้องหมาเราชอบกินอึตัวเอง ก็อย่าละเลยที่จะพาน้องไปพบคุณหมอนะคะ

อาการที่แสดงออกก็ตามชื่อเลย น้องหมาจะกินอึตัวเอง หรือกินอึของหมาตัวอื่น บางตัวก็เดินกินอึของน้องแมวเหมียว จนบางครั้งอาจพบว่า น้องหมาเราอาเจียนออกมาเป็นอึเลยทีเดียว


การกินอึของน้องหมานั้น แบ่งเป็น
3 แบบ คือ


1.       กินอึตัวเองเท่านั้น 
2.       กินอึของคนอื่นแต่เป็น species เดียวกับตัว เช่นกินอึหมาด้วยกันไม่กินอึสัตว์อื่น
3.       กินอึของสัตว์ต่าง species เช่น อึแมว หนู กระต่าย


สาเหตุของการกินอึนั้นมีด้วยกันหลายอย่าง เช่น


- มีพยาธิในลำไส้มากมายคอยแย่งอาหาร น้องหมาก็จะขาดอาหารโดยปริยาย 
- โรคขาดเอ็นไซม์จากตับอ่อน ทำให้อาหารที่กินเข้าไปย่อยไม่ได้ จึงดูดซึมไม่ได้เลยขาดสารอาหาร
- ทางเดินอาหารไม่ดูดซึมสารอาหาร อาจจะเกิดจากแพ้โปรตีนที่กินหรือระบบท่อน้ำเหลืองที่ไส้มีปัญหา
- ได้รับอาหารน้อยเกินไป
- ขาดสารอาหาร
- ติดใจรสชาติของอึแมว
- กินอึลูกตัวเอง (เป็นสัญชาตญาณเพศแม่ เกิดขึ้นตั้งแต่ลูกหมาแรกเกิดถึง 3.5 สัปดาห์)
- ได้รับยาบางตัวที่กินแล้วหิวจัด
- ความชอบส่วนตัว เช่น ลูกหมาที่เลี้ยงเยอะเกิน กระวนกระวายจัด เบื่อหน่ายระหว่างวัน

ที่นี้เราต้องมาหากันว่า เด็กๆที่บ้านเรานั้น กินอึ จากสาเหตุอะไรซ่อนอยู่ หรือเกิดจากนิสัยใจคอของเค้าเอง เช่น


- ดูประวัติว่ากินยาอะไรอยู่ตอนนี้
- ตรวจร่างกายว่าเข้าเค้าเป็นโรคใดหรือเปล่าที่ทำให้กินแหลก
- ดูอาหารที่ให้ว่าคุณภาพดีไหม
- ดูประวัติการให้อาหารของคุณกะน้องหมา ว่าให้วันละกี่รอบ มีกิจกรรมหนักไหม เช่นให้อาหารวันละมื้อแต่น้องหมาวิ่งรอบสนามบอล 10 รอบ วันละ 3 หน เค้าก็คงอาหารไม่พอ
- ตรวจเลือดเพื่อดูว่ามีแนวโน้มเป็นโรคขาดฮอร์โมนหรือเอ็นไซม์ไหม
- ตรวจอึว่ามีไขมันออกมากับอึไหม  มีพยาธิไหม
- ตรวจปัสสาวะ ว่ามีโปรตีนรั่วไหม  มีน้ำตาลหรือไม่

เมื่อทราบแล้วน้องหมาเรามีสาเหตุมาจากอะไรก็รักษาไปตามเหตุนั้นค่ะ
หากเกิดจากจิตใจก็จะลำบากหน่อย เจ้าของเองคงต้องหาเวลาอยู่เล่นกะเขาให้มากขึ้น ใส่ใจเขามากขึ้น
แต่ถ้าหากเป็นความชอบส่วนตัวของเขาอันนี้ลำบากหนักเลยค่ะ เราต้องจัดการจริงๆ ซึ่งมีหลายวิธีที่ช่วยได้ สามารถปรึกษาคุณหมอประจำตัวน้องหมาของคุณได้เลยค่ะ

อย่างไรก็ดีการกินอึไม่ใช่สิ่งที่สวยงาม และหากคุณไม่เคยเก็บอึหมาเลย แต่ว่าไม่เคยเห็นอึหมาเลยก็อย่าคิดว่าข้างบ้านใจดีมาเดินเก็บอึหมาให้ ขอให้นึกซะว่าหมาคุณน่าจะเริ่มมีปัญหาแล้วค่ะ












บทความจาก 

สัตวแพทย์หญิงอาภาพร เจตนาวณิชย์



โรงพยาบาลเพื่อนสัตว์เลี้ยงศรีราชา(เปิด24ชั่วโมง) โทร. 089-2448865

คลินิกเพื่อนสัตว์เลี้ยงศรีราชา สาขาหนองยายบู่ ( เปิด 9.00-21.00 น.) โทร. 092-0124002

คลินิกเพื่อนสัตว์เลี้ยงบางแสน  (เปิด9.00-20.00น.โทร.098-7165698



ติดตามข้อมูลข่าวสาร
Fanpage : petfriendsHospital
Line ID : @petfriends
You Tube : PetFriends Channal
E-mail : petfriends2010@hotmail.com
 1/16 หมู่ 4 ถนนสุขุมวิท ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 20110

วันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2561

แมวกินหญ้า เพราะอะไร ??


แมวจ๋า...แมวกินหญ้าเพราะอะไร



เชื่อว่าคุณคงต้องเคยเห็นสุนัขและแมวกินหญ้า แล้วคุณรู้ไหมว่า สาเหตุจริงๆ ที่น้องแมวกินหญ้าเพื่อวัตถุประสงค์ใดกันแน่
วันนี้หมอจะมาเล่าเรื่องการกินหญ้าในแมวให้ฟัง ว่ามันเป็นเหตุผลที่ต่างจากในหมาโดยสิ้นเชิง  

ซึ่งน้องแมวเป็นสัตว์จำพวกกินเนื้อ ดังนั้นหลังกินหญ้าเข้าไปก็จะขย้อนออกหมด เพราะไม่มีเอนไซม์ช่วยในการย่อย


การกินหญ้าของแมวเกิดได้จากหลายๆ สาเหตุ ดังนี้

1. เชื่อว่าเหมียวนั้นต้องการเคลียร์ทางเดินอาหารให้โล่งเพราะเวลาจับเหยื่อพวกนก หนู  กระรอกมันมีขน อาจจะติดคอและระคายเคืองเหมียวได้
2. มันชุ่มน้ำ (juice) ในหญ้าจะอุดมไปด้วยกรด folic คล้ายน้ำนมแม่ ซึ่งจำเป็นต้อการสร้าง hemoglobin  ดังนั้น เหมียวก็พึงใจที่จะกิน
3. ยาระบาย (luxative) มันจะช่วยพาเศษขนที่เขากินหรือเลียเข้าไปออกมา โดยอึที่ออกมาก็อาจจะนุ่ม ดูชุ่มน้ำหน่อยๆ
4. กำจัดก้อนขน (hairball) แต่หากคุณเลี้ยงแมวแล้วไม่รู้จักคำว่า  hairball แสดงว่าคุณเชยมาก การกินหญ้าจะช่วยให้เขาขย้อนก้อนเหล่านี้ออกมา ทำให้โล่งสบาย
5. พฤติกรรมเจ้าระเบียบ (compulsive behavior) ในแมวจะมีพฤติกรรมที่เรียกว่า obsessive compulsive disorder (OCD) คือกินสิ่งแปลกหมอเชื่อว่า คุณน่าจะเคยเห็นเช่น กินเสื้อ กินหรือแทะพรม ซึ่งนั่นก็รวมถึงหญ้าด้วย แบบนี้ต้องปรึกษาหมอแล้วนะคะ
6. ขาดสารอาหาร (nutrition deficiency) เราเชื่อว่าอาจจะมาจากขาดสารอาหารบางอย่างซึ่งเหมียวพยายามหาทดแทนโดยการกินหญ้า ในหญ้าจะมีวิตามินหลายอย่างที่เหมียวอยากได้
7. เพื่อความบันเทิง (entertainment) แมวจะชอบวิ่ง กลิ้งเกลือกกะหญ้า เกลือกไปมาก็กินมันซะเลย เป็นความสุขอย่างหนึ่ง
           
ดังนั้นหากมีคนกล่าวว่าแมวกินหญ้าคือแมวป่วย เราอาจจะเถียงกันหัวชนฝาเลยนะ อาจจะใช่หรือไม่ใช่อาการป่วย เพราะเหมียวปกติก็กินหญ้าได้เช่นกันค่ะ ... แล้วเหมียวคุณล่ะ กินหญ้าบ่อยแค่ไหน



บทความจาก 

สัตวแพทย์หญิงอาภาพร เจตนาวณิชย์


โรงพยาบาลเพื่อนสัตว์เลี้ยงศรีราชา โทร. 089-2448865

คลินิกเพื่อนสัตว์เลี้ยงศรีราชา สาขาหนองยายบู่ ( เปิด 9.00-21.00 น.โทร. 092-0124002

คลินิกเพื่อนสัตว์เลี้ยงบางแสน  (เปิด9.00-20.00น.โทร.098-7165698



ติดตามข้อมูลข่าวสาร
Fanpage : petfriendsHospital
Line ID : @petfriends


E-mail : petfriends2010@hotmail.com
 1/16 หมู่ 4 ถนนสุขุมวิท ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 20110

วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2561

พิษสุนัขบ้า...คร่าชีวิต



วันนี้แอดมินมีบทความดีๆที่จะแนะนำให้รู้จักกับโรคนี้ เพื่อป้องกันก่อนจะสายเกินแก้

โรคพิษสุนัขบ้า หรือ โรคกลัวน้ำ

เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า เรบีส์ไวรัส ซึ่งมีรูปร่างคล้ายกระสุนปืน โดยจะอยู่เฉพาะในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตเท่านั้น เมื่อออกนอกร่างกายจะมีชีวิตได้ไม่นาน ถูกทำลายได้ง่ายเมื่อถูกความร้อน แสงแดด หรือในสภาพแห้งแล้ง ดังนั้นจึงสามารถพบโรคนี้ได้ทุกฤดูกาลเนื่องจากเป็นเชื้อไวรัส ไม่ได้เกิดเนื่องจากความเครียดเพราะความร้อนอย่างที่หลายๆคนเข้าใจนะคะ

พิษสุนัขบ้า เกิดเฉพาะสุนัขใช่ไหม?? ชื่อก็บอก

จริงๆแล้วโรคพิษสุนัขบ้าไม่ได้เกิดเฉพาะในสุนัขเท่านั้นนะคะ แต่สัตว์เลือดอุ่นทุกชนิด โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น วัว ควาย ม้า หมู ลิง ชะนี กระรอก กระแต เสือ ค้างคาว คน ฯลฯ
ในไทยนั้นสัตว์ที่พบว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า มากที่สุดคือ สุนัข (96 % ของจำนวนที่พบเชื้อจากการวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการ) รองลงมาคือ แมว (3%)

การติดต่อของโรคพิษสุนัขบ้า

ในสัตว์ มักติดโดยการกัดกันและได้รับเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำลายสัตว์ เข้าทางบาดแผลที่กัดกัน
ในคน เชื้อเข้าทางบาดแผลที่ถูกกัด ข่วน หรือถูกเลียบริเวณบาดแผลที่มีอยู่เดิม หรือได้รับเชื้อเข้าทางเยื่อตา เยื่อปาก การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อกระจกตา และอาจพบว่าติดเชื้อจากการหายใจ (น้อยมาก)

อาการของโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัข

แบ่งได้เป็น 2 แบบ
1. แบบดุร้าย (แสดงอาการชัดเจนและพบบ่อย)
2. แบบซึม (อาการไม่ชัดเจน)

ระยะฟักตัวสามารถพบได้ตั้งแต่ 10 วันจนถึง 6 เดือน แต่พบบ่อยในระยะ 3-8 สัปดาห์

อาการของโรคมี 3 ระยะ

1. ระยะอาการเริ่มแรก สุนัขจะมีนิสัยแปลกไปจากเดิม ตัวที่เคยขลาดกลัวจะเข้ามาคลอเคลีย ตัวที่เคยเชื่องชอบเล่น จะหงุดหงิด หลบไปตามมุมมืด เงียบ กินอาหารและน้ำน้อยลง ระยะนี้มีอาการ 2 - 3 วัน จะเข้าสู่ระยะที่ 2
2. ระยะตื่นเต้นซึ่งจะมีอาการทางประสาท มีความรู้สึกไวกว่าปกติ กระวนกระวาย หงุดหงิด ไม่อยู่นิ่ง ม่านตาขยาย กัดแทะสิ่งของ ตัวแข็ง ขากรรไกรแข็ง ปากอ้า ลิ้นห้อย น้ำลายไหล (บางคนจึงเรียกโรคนี้ว่าโรคกลัวน้ำ) บางตัววิ่งพล่านไปทั่ว เมื่อพบสัตว์หรือคนขวางหน้าจะกัด ส่งเสียงเห่าหอน ในระยะที่แสดงอาการแบบซึมอาจไม่แสดงอาการเช่นนี้ แต่เมื่อถูกรบกวนอาจกัด ต่อมากล้ามเนื้อจะเริ่มอ่อนแรงลง ทรงตัวไม่ได้ ล้มแล้วลุกไม่ได้ บางตัวชักกระตุก อาการระยะนี้พบได้ 1 - 7 วัน จึงจะเข้าระยะสุดท้าย
3. ระยะอัมพาต เกิดอาการอัมพาตลามทั้งตัว เริ่มจากขาหลัง ต่อมากล้ามเนื้อคอจะเป็นอัมพาต กลืนอาหารไม่ได้ ระบบหายใจล้มเหลวและตายในที่สุด รวมระยะเวลาเริ่มแสดงอาการจนเสียชีวิตประมาณ 10 วัน

อาการของโรคพิษสุนัขบ้าในแมว

ในระยะที่มีอาการชัดเจน แบ่งได้เป็น 3 ระยะ เช่นกัน คือ
1. ระยะอาการนำ มีอาการหงุดหงิด นิสัยเปลี่ยนไป ชอบหลบซุกในที่มืด ระยะนี้มักสั้นไม่เกิน 1 วัน
2. ระยะตื่นเต้น แสดงอาการดุร้าย กัด หรือข่วนคนหรือสัตว์ที่เข้ามาใกล้ กล้ามเนื้อสั่น น้ำลายไหล กลืนลำบาก ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 2 - 4 วัน ก็จะเข้าสู่ระยะสุดท้าย
3. ระยะอัมพาต โดยเริ่มเป็นอัมพาตจากขาหลังแล้วลามมายังลำตัว ขาหน้าและหัว จนทั่วตัวอย่างรวดเร็วและเสียชีวิตในที่สุด
แต่บางครั้งอาการในแมวมักไม่ชัดเจน อาจเป็นแบบซึม มีระยะตื่นเต้นสั้นมาก หรือไม่แสดงอาการเลย โดยพบว่ากินอาหารและน้ำลำบาก แล้วเป็นอัมพาตลามไปทั่วตัว ตายในเวลา  3 - 4 วัน หลังจากเริ่มมีอาการก็เป็นได้

โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรงและไม่มีทางรักษา ทำให้คนหรือสัตว์ที่ป่วยด้วยโรคนี้เสียชีวิตทุกราย แต่สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยงเป็นประจำปีละหนึ่งครั้ง สำหรับผู้ที่ถูกสุนัข หรือแมวกัดหรือข่วน เบื้องต้นควรล้างบาดแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดให้ลึกถึงก้นแผล และเช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค (เบตาดีน) แล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเรื่องการฉีดวัคซีนและการป้องกันบาดทะยัก พร้อมทั้งติดตามดูอาการสัตว์ที่กัดต่อไปนานอย่างน้อย 7-10 วัน
               


บทความจาก 
สัตวแพทย์หญิงอาภาพร เจตนาวณิชย์


ปรึกษาเรื่องพิษสุนัขบ้าได้ทุกสาขาใกล้บ้านคุณ
โรงพยาบาลเพื่อนสัตว์เลี้ยงศรีราชา โทร. 089-2448865
คลินิกเพื่อนสัตว์เลี้ยงศรีราชา สาขาหนองยายบู่ ( เปิด 9.00-21.00 น.) โทร. 092-0124002

คลินิกเพื่อนสัตว์เลี้ยงบางแสน  (เปิด9.00-20.00น.) โทร.098-7165698



ติดตามข้อมูลข่าวสาร
Fanpage : petfriendsHospital
Line ID : @petfriends


E-mail : petfriends2010@hotmail.com
 1/16 หมู่ 4 ถนนสุขุมวิท ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 20110