วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ยาคุมในสัตว์เลี้ยง ภัยเงียบที่คนมองข้าม !!


หลายคนคงแปลกใจว่าทำไมหมอถึงได้ซีเรียสเรื่องนี้จังเลย 

ก็เพราะว่าประชาชนทั่วไปส่วนใหญ่ชอบมาถามหาซื้อยาคุมไปฉีดให้สุนัขจร แมวจร เพื่อจุดประสงค์แค่ไม่อยากให้เค้าท้องมีลูก ฉีดได้บ้างไม่ได้บ้าง ฉีดผิดบ้างถูกบ้าง สาเหตุก็มาจากปัญหาเดิมๆ ก็มันแมวจร (หมาจร) ป้าจับมันมาไม่ได้ >>

แล้วทำไมหมอไม่ฉีดยาคุมให้??
>> เพราะมันมีข้อเสียมากกว่าและอันตรายถึงชีวิตได้เลยนะครับ เมื่อเทียบกับสิ่งที่ต้องการแค่ไม่อยากให้เค้าท้องมีลูก แต่ในทางกลับกันคุณอาจกำลังจะฆ่าพวกเค้าอย่างไม่รู้ตัวก็เป็นได้ 
>> หลายคนพอมาขอซื้อยาไปฉีดเองแต่หมอไม่ขายให้ ก็ทำท่าไม่พอใจ พอบอกเหตุผลไปก็ไม่ฟังหมอ หรือต้องรอให้เกิดเหตุก่อนครับถึงจะยอมฟัง?? 

แล้วยาคุมอันตรายอย่างไรละ?? 

ยาคุมที่เราฉีดกันอยู่ส่วนใหญ่เป็นฮอร์โมนโปรเจสตินหรือโปรเจสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่จะช่วยทำให้สุนัขหรือแมวไม่แสดงอาการเป็นสัดและไม่ยอมรับการผสมจากตัวผู้ เนื่องจากฮอร์โมนไปกดการทำงานของฮอร์โมนตัวอื่นในวงรอบการเป็นสัดเพื่อไม่ให้มันทำงานได้ จึงไม่เป็นสัด ซึ่งตัวยาคุมออกฤทธิ์ได้ประมาณ 3 เดือน อันนี้เป็นกลไกการออกฤทธิ์คร่าวๆ ครับ เท่านั้นยังไม่พอฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนยังเป็นฮอร์โมนตัวสำคัญในการทำให้การตั้งท้องเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์ และจะค่อยๆ ลดลงเมื่อครบอายุครรภ์ (ประมาณ 2 เดือน) ลูกตัวใหญ่สมบูรณ์ใกล้คลอด เมื่อโปรเจสเตอโรนค่อยๆ ลดลงก็จะทำให้ฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการคลอดทำงานได้ แล้วสัตว์ก็จะคลอดได้ตามธรรมชาติ 
ถ้าเข้าใจตรงนี้ลองนึกภาพตามผมนะครับแล้วคิดตามว่าจะเกิดอะไรขึ้น 
>> มีแมวหรือหมาตัวหนึ่งถูกตัวผู้ผสมมาก่อนหน้านั้นแต่เราไม่รู้ (อาจยังท้องอ่อน) คุณเจ้าของก็นึกอยากคุมกำเนิดให้ ไปขอซื้อยาคุมที่ร้านหมอมาฉีดเอง หมอก็ขายให้ในราคาเข็มละไม่กี่ร้อย (ถูกมากเมื่อเทียบกับทำหมัน) เจ้าของก็เอามาฉีดให้สุนัขตัวนั้น จะเกิดอะไรขึ้นครับ  (ให้เวลาคิด10วินาที + กลับขึ้นไปอ่านข้างบน) ... แน่นอนหมาแมวไม่เป็นสัดแน่ๆ ครับ แล้วลูกในท้องล่ะ?? ก็จะเจริญเติบโตได้จนครบอายุครรภ์ แต่ในเมื่อยังอยู่ภายใต้ฤทธิ์ยาคุมก็เลยทำให้ไม่คลอด แม่ไม่เบ่ง ลูกเต็มท้องทรมานมากนะครับ บางตัวไม่ไหวอาการแย่มาเลยก็มี สุดท้ายอาจจะตายทั้งแม่ทั้งลูก แล้วก็ต้องผ่าคลอดแบบลูกตายในท้องบนความเสี่ยงของแม่สุนัขหรือแมวที่อาการแย่ <<



>> หากคุณรู้และเข้าใจในการใช้ยาคุมเพื่อประโยชน์ที่ถูกต้องในการเลื่อนรอบการเป็นสัดในบางรอบ ประกอบกับการใช้ยา ภายใต้คำแนะนำของสัตวแพทย์เท่านั้น  เพราะการใช้ยาคุมติดต่อกันในระยะยาวมีผลจะกระตุ้นให้ เกิดมดลูกอักเสบและเป็นหนอง ได้ ซึ่งอันตรายไม่แพ้การคลอดไม่ออกเลยครับ ซึ่งสุดท้ายก็ต้องผ่าตัดอยู่ดี และความเสี่ยงในการวางยากับค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดสูงกว่าการทำหมันธรรมดาหลายเท่าครับ เลิกเถอะครับกับการมาขอซื้อยาคุมไปฉีดกันเองแบบที่ไม่มีความรู้ แนะนำเลยนะครับ การทำหมันไม่ว่าจะตัวผู้หรือตัวเมียเป็นการควบคุมจำนวนประชากรที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยที่สุดแล้วครับ

ด้วยความปรารถนาดีจาก โรงพยาบาลเพื่อนสัตว์เลี้ยงศรีราชา
ขอบคุณบทความที่มีประโยชน์จาก  นายสัตวแพทย์พนธกร  กังวานฤทธิไกร (หมอต็อบ)

***********************************************

โรงพยาบาลเพื่อนสัตว์เลี้ยงศรีราชา

ติดต่อสอบถาม 
โทร 038-773007 / 089-2448865
Fax : 038-773339
IG : Petfriends_sriracha

Line@ : @petfriends   /    Petshop









E-mail : petfriends2010@hotmail.com

ติดต่อเรา 1/16 หมู่ 4 ถนนสุขุมวิท ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 20110

วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

เบาหวานในสุนัขและแมว ไม่ใช่เรื่องเบาๆนะ

โรคเบาหวานคือ 

                 โรคที่มีภาวะของระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูง มักเกิดในสัตว์เลี้ยงที่มีอายุมากๆ ในสุนัขพบได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 4-12 ปี และพบในเพศเมียมากกว่าถึง 2 เท่า สายพันธุ์ที่พบบ่อยได้แก่ พุดเดิล ดัชชุน มิเนเจอร์พินเชอร์ มิเนเจอร์ชเนาเซอร์ บีเกิล ปั๊ก โกลเดนรีทรีพเวอร์                 ส่วนในแมวพบว่าแมวเพศผู้ที่ทำหมันแล้วสามารถพบได้มากกว่าเพศเมียถึง 1.5 เท่า หรือแม้กระทั่งในแมวชรา หรือแมวที่มีน้ำหนักตัวเฉลี่ยมากกว่า 6.8 กิโลกรัม

              ปกติแล้วการที่ร่างกายจะสามารถนำน้ำตาลในกระแสเลือดไปใช้ได้นั้นจะต้องอาศัยฮอร์โมนอินซูลินที่ผลิตมาจากตับอ่อน ซึ่ง  สาเหตุของการเกิดโรคเบาหวานนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ 

แบบที่ 1   นั้นตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายได้  
แบบที่ 2   คือตับอ่อนสามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ปกติ แต่มีความบกพร่องในการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนอินซูลิน ดังนั้นจึงส่งผลให้มีระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ


สุนัขหรือแมวที่เป็นโรคเบาหวานนั้นมักจะมี อาการเริ่มแรกที่สังเกตเห็นได้ง่ายคือ ดื่มน้ำเยอะและบ่อย ปัสสาวะเยอะและบ่อย อ่อนเพลีย ผอม กินเก่ง หิวบ่อยแต่น้ำหนักตัวลดลง หากอาการรุนแรงอาจพบว่ามีอาการทางประสาท ตาเป็นต้อกระจก หรือตาบอดเฉียบพลันได้ ในรายที่มีข้อแทรกซ้อนอาจเกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากภาวะคีโตนในเลือดสูงหรือ ที่เรียกว่า Diabetic Ketoacidosis (DKA) จะมีอาการอาเจียน ท้องเสีย ซึม ขาดน้ำอย่างรุนแรงถือเป็นภาวะฉุกเฉินหากไม่ได้รับการรักษาอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้



                การวินิจฉัยโรคเบาหวานนั้นทำได้โดยการเจาะเลือดเพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด และอาจทำการตรวจปัสสาวะร่วมด้วย การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดนั้นควรงดอาหารมาแล้วอย่างน้อย  8 ชั่วโมง โดยหากพบว่าสุนัขหรือแมวของท่านมีระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ (มากกว่า 180 ในสุนัขและมากกว่า 250 ในแมว) ก็มีโอกาสที่สุนัขหรือแมวของท่านจะเป็นโรคเบาหวานได้

            การรักษาสุนัขและแมวที่เป็นโรคเบาหวานนั้นทำได้โดย  

1. การฉีดฮอร์โมนอินซูลินเข้าไปทดแทนในส่วนที่ร่างกายขาดไปเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดให้กลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม ในระยะแรกของการรักษาสัตวแพทย์จะแนะนำให้ท่านฝากสุนัขหรือแมวไว้ที่โรงพยาบาลประมาณ 1 สัปดาห์   เพื่อที่จะประเมินและปรับขนาดของฮอร์โมนอินซูลินที่จะใช้ โดยจะทำการเจาะเลือดก่อนและหลังการฉีดฮอร์โมนเพื่อทำกราฟระดับน้ำตาลในเลือดจนกว่าจะได้ขนาดของฮอร์โมนที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อสุนัขหรือแมวของท่าน หลังจากนั้นท่านสามารถกลับไปฉีดฮอร์โมนให้แก่สุนัขหรือแมวของท่านเองได้ที่บ้านตามปริมาณที่เหมาะสมที่สัตวแพทย์แนะนำ และหลังจากนั้นจะมีการนัดตรวจวัดระดับน้ำตาลในกระแสเลือด รวมทั้งตรวจปัสสาวะเป็นระยะๆ เพื่อประเมินผลการรักษาและปรับขนาดของฮอร์โมนอินซูลินให้เหมาะสม


2. การให้อาหารในเวลาที่แน่นอนและสัมพันธ์กับการฉีดอินซูลิน ส่วนชนิดของอาหารนั้นควรให้อาหารเฉพาะโรคเพื่อควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไปและจำกัดปริมาณอาหารให้พอเหมาะเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลและน้ำหนักตัว

                โดยปกติแล้วสุนัขที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานนี้ส่วนใหญ่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากสาเหตุที่ทำให้สุนัขเป็นโรคเบาหวานนั้นมักมาจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ซึ่งจะเป็นไปอย่างถาวร ส่วนแมวที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานนั้นมีโอกาสหายได้ เนื่องจากในแมวนั้นมักจะมีสาเหตุมาจากความบกพร่องในการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนอินซูลินซึ่งในบางครั้งสามารถกลับมาสู่ภาวะปกติได้ 

ดังนั้นสิ่งสำคัญในการรักษาโรคเบาหวานคือ 

การรักษาและควบคุมให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดอยู่ในระดับที่เหมาะสมภายใต้การดูแลรักษาของสัตวแพทย์   และทำให้สุนัขหรือแมวที่เป็นโรคเบาหวานนั้นมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

***********************************************

โรงพยาบาลเพื่อนสัตว์เลี้ยงศรีราชา

ติดต่อสอบถาม 
โทร 038-773007 / 089-2448865
Fax : 038-773339
IG : Petfriends_sriracha
Line@ : @petfriends 













Petshop








E-mail : petfriends2010@hotmail.com
ติดต่อเรา 1/16 หมู่ 4 ถนนสุขุมวิท ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 20110

วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

วิธีตัดเล็บแมว 4 ขั้นตอน ปลอดภัยน้องแมวไม่เจ็บ

ขั้นตอนการตัดเล็บเหมียว ตัดปลอดภัยเหมียวไม่เจ็บ



การตัดเล็บเหมียวให้สั้นอยู่เสมอ เป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพของเด็กๆ ซึ่งข้อดีอันดับแรกเลยก็คือ การป้องกันไม่ให้คุณบาดเจ็บจากการโดนข่วนยังไงล่ะ



 ข้อดีต่อมาคือ ทำให้เจ้าเหมียวทำร้ายเฟอร์นิเจอร์ตัวโปรดของคุณไม่ได้ และที่สำคัญ 'เล็บที่สั้นยังช่วยปกป้องเจ้าเหมียวด้วย เช่น เวลาที่เล็บไปเกี่ยวกับพรมแล้วเจ้าเหมียวกระชากออกมาแรงๆ ก็มีสิทธิ์ทำให้เล็บหลุดออกมาทั้งยวงเลยก็ได้





 ทีนี้คุณน่าจะเข้าใจแล้วว่า การดูแลเล็บเหมียวให้สั้นอยู่เสมอ มีแต่ผลดียังไง และสำหรับวิธีที่ดีที่สุดในการทำให้แมวชินกับการตัดเล็บคือ ต้องเริ่มตั้งแต่ยังเขายังเล็ก ส่วนเหมียวตัวโตๆ ก็สามารถจับตัดเล็บได้เช่นกัน แค่ต้องทำอย่างช้าๆ พูดกับเขาดีๆ และอย่าลืมให้รางวัลเมื่อตัดเสร็จแล้วด้วย

4 ขั้นตอนตัดเล็บเหมียว 



1.เริ่มจากพาน้องเหมียวที่ผ่อนคลายสบายใจไปยังที่เงียบๆ ไม่มีอะไรรบกวนและไม่มีสัตว์อื่นอยู่ใกล้ๆ จากนั้นคุณต้องทดลองเองว่าการจับแมวท่าไหนดีที่สุด จะให้เหมียวนอนตักแล้วค่อยตัดเล็บ หรืออาจจะอุ้มแมวไว้ในอ้อมแขน ไม่ก็ให้นอนตะแคงบนตักก็ได้ ต้องลองดูด้วยตัวเองว่าวิธีไหนเหมาะกับเหมียวๆ ของคุณ



2.จับอุ้งมือน้องเบาๆ และใช้นิ้วโป้งคลี่เล็บของเขาออกมา



3.ใช้ที่ตัดเล็บของคนธรรมดานี่แหละ ตัดส่วนที่เป็นคมเล็บอย่างรวดเร็ว ระวังอย่าตัดใกล้ส่วนที่เป็นเนื้อสีชมพูของเล็บที่เรียกว่า ควิก (quick) เนื้อส่วนนี้บอบบางมาก และเหมียวจะเจ็บปวดสุดๆ ถ้าเราตัดพลาดไปโดนเข้าต้องรีบห้ามเลือดด้วยผงห้ามเลือดสำหรับสัตว์เลี้ยง (styptic powder)



 4.ค่อยๆ ตัดไปทีละเล็บจนครบทุกนิ้ว ตัดเสร็จแล้วก็อย่าลืมให้รางวัลสำหรับเด็กดีด้วย หลังจากนี้อีก 1-2 อาทิตย์ก็ตัดให้น้องเขาใหม่ เมื่อเล็บยาวอีกครั้ง

***สำหรับแมวที่ต่อต้านการตัดเล็บอย่างรุนแรง คุณอาจหากระเป๋าจับแมวทีทำให้คุณสามารถขังเขาไว้ และค่อยๆ ตัดเล็บได้อย่างไม่เป็นอันตราย วิธีนี้ช่วยลดอุบัติเหตุลงไปได้มาก ทั้งกับคุณและเจ้าเหมียวสุดที่รัก #MaleeAndFriends

***********************************************

โรงพยาบาลเพื่อนสัตว์เลี้ยงศรีราชา


ติดต่อสอบถาม 


โทร 038-773007 / 089-2448865

Fax : 038-773339

IG : Petfriends_sriracha

Line@ : @petfriends 















E-mail : petfriends2010@hotmail.com

ติดต่อเรา 1/16 หมู่ 4 ถนนสุขุมวิท ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 20110